0
0.00
ทำไมจึงเชื่อว่า ทำบุญกฐินจะได้บุญมาก
ทำไมจึงเชื่อว่า ทำบุญกฐินจะได้บุญมาก

กฐิน แปลว่า "ไม้สะดึง" คือ กรอบไม้สำหรับขึงผ้า ที่จะเย็บเป็นผ้าไตรจีวรในสมัยโบราณ ซึ่งผ้าที่เย็บจากกฐินหรือไม้สะดึงแบบนี้จะเรียกกันว่า “ผ้ากฐิน”

การถวายผ้ากฐิน มีที่มา.. สืบย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุเมืองหนึ่งจำนวน 30 รูปเดินทางไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วัดพระเชตวัน ระหว่างทางจำเป็นต้องอยู่จำพรรษาที่เมืองหนึ่ง เมื่อออกพรรษาแล้วจึงได้รีบออกเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา

เมื่อเดินทางไปถึง พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามถึงความเป็นอยู่และการเดินทาง เมื่อทรงทราบถึงความยากลำบากที่พระภิกษุต้องกรำแดดกรำฝนจนจีวรเปียกชุ่มและเปรอะเปื้อนไปด้วยดินโคลน จึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส สามารถรับผ้ากฐินได้


การทำบุญกฐินนั้น มีความพิเศษและมีความแตกต่างจากการถวายทานอย่างอื่น เพราะมีข้อจำกัดและเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนี้

1.จำกัดประเภทของทาน ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเจาะจงเป็นพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้

2. จำกัดด้วยเวลา จะต้องถวายภายในหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไปเท่านั้น

3. จำกัดงาน คือ พระภิกษุผู้รับผ้ากฐินจะต้องกรานกฐินให้เสร็จสิ้นภายในวันนั้น

4. จำกัดของที่ถวาย คือ ไทยธรรมที่จะถวายจะต้องเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร และต้องถูกต้องตามลักษณะที่พระวินัยกำหนดไว้ ไทยธรรมอื่น ๆ จัดเป็นบริวารกฐิน

5. จำกัดผู้รับ คือ พระภิกษุที่จะรับผ้ากฐินได้ จะต้องอยู่จำพรรษาที่วัดนั้น โดยไม่ขาดพรรษา และจะต้องมีจำนวนอย่างน้อย 5 รูปขึ้นไป

6. จำกัดคราว คือ แต่ละวัดจะรับกฐินได้ปีละครั้งเท่านั้น

7. กฐินเป็นพระบรมพุทธานุญาต คือ ผ้ากฐินนี้เป็นพระประสงค์ของพระพุทธองค์โดยตรง ทรงอนุญาตเอง ไม่ได้มีผู้ใดร้องขอ

ด้วยเหตุที่กล่าวมานี้ ทำให้การทำบุญกฐินมีอานิสงส์และได้บุญมากนั่นเอง



ขอขอบคุณข้อมูลจาก พระธีรภัทร์(ลพ.ติ่ง)
ศรีเพชร ลิขิตสมบัติ เขียน

+