0
0.00
เคยได้ยินคำว่า จุลกฐิน กันหรือเปล่า?
เคยได้ยินคำว่า จุลกฐิน กันหรือเปล่า?

คำว่ากฐิน เป็นคำที่ชาวพุทธต่างคุ้นเคยและรู้จักกันดี ว่าเป็นประเพณีนิยมที่จะจัดขึ้นทุก ๆ ปี งานบุญทอดกฐินนี้เป็นงานบุญใหญ่ จัดขึ้นแค่เพียงปีละครั้งหลังออกพรรษาเท่านั้น

แล้วคำว่า จุลกฐิน ล่ะ มีใครรู้จักหรือไม่ว่าคืออะไร วันนี้บุญรักษามีคำตอบน่ารู้มาฝากกัน

จุลกฐิน ก็คือ กฐินราษฏ์แบบหนึ่งนั่นเอง แล้วกฐินราษฏ์คืออะไร.. ก็ต้องกล่าวย้อนกลับไปเสียก่อนว่า ประเภทของกฐินคืออะไร

กฐินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กฐินหลวง และ กฐินราษฏ์

1. กฐินหลวง คือ กฐินที่พระมหากษัตริย์มีพระราชประสงค์จะทอดถวายยังวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดราษฎร์หรือวัดหลวง หากพระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้วจะเรียกว่า กฐินหลวง ทั้งสิ้น

2. กฐินราษฎร์ เป็นกฐินที่ประชาชน หรือราษฎรที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีกำลังศรัทธานำผ้ากฐินของตนเองไปทอดถวายที่วัดต่างๆ (เว้นไว้แต่วัดหลวงที่กล่าวมาแล้วในกฐินหลวง) การทอดกฐินของราษฎรตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีการเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปตามลักษณะวิธีการทอดถึง 4 รูปแบบ ดังนี้

- กฐิน หรือ มหากฐิน

- จุลกฐิน หรือ กฐินแล่น

- กฐินสามัคคี

- กฐินตกค้าง

ฉะนั้น จุลกฐินก็คือกฐินราษฏร์รูปแบบหนึ่ง แต่ความพิเศษคือ มีพิธีการและศรัทธาที่แตกต่างจากกฐินทั่ว ๆ ไป จุลกฐิน คือ กฐินแห่งศรัทธา เพราะเป็นกฐินที่ต้องใช้เวลาในการทอผ้าหนึ่งวันเต็มให้เสร็จสิ้นก่อนรุ่งอรุณ เพื่อเตรียมถวายเป็นผ้ากฐินในวันรุ่งขึ้น เป็นการทำงานใหญ่ภายในระยะเวลาสั้นและจำกัด แต่มีเนื้องานที่มีขั้นตอนและอุปสรรคมาก จึงเป็นการทำบุญที่ต้องใช้แรงศรัทธาที่มุ่งมั่น ให้งานลุล่วงสมบูรณ์ไปด้วยดี โดยอาศัยการรวมพลังศรัทธาของบรรดาญาติโยม รวมทั้งฝ่ายพระสงฆ์ที่ต้องทำกันอย่างรีบเร่ง อาศัยการร่วมแรง ร่วมใจกันอย่างมาก ซึ่งจะต่างจากการทอดกฐินธรรมดานี้เอง


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก เว็บไซต์วัดไชยมงคล ถนนพโลชัย อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ศรีเพชร ลิขิตสมบัติ เขียน

+