กฐิน หรือการทอดกฐิน เป็นสิ่งที่ชาวพุทธทุกท่านต่างรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่คำว่า “กฐินโจร” อาจมีหลายท่านที่ยังไม่คุ้นเคยหรือไม่ทราบว่า..มีความหมายว่าอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน
ประเพณีการทอดกฐิน เป็นงานบุญใหญ่ที่หนึ่งปีจะมีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งคำว่า “กฐิน” นี้เองก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. กฐินหลวง คือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเกี่ยวกับกฐิน โดยรับขึ้นเป็นพระราชพิธีนี้ วัดใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นพระอารามหลวง(วัดหลวง) หรือวัดราษฎร์ หากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงถวายผ้าพระกฐินแล้ว ก็จะเรียกว่า “กฐินหลวง” ทั้งสิ้น ไม่ใช่กำหนดว่าทอดที่พระอารามหลวง(วัดหลวง) เท่านั้น
2. กฐินราษฎร์ คือ กฐินที่พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปทอดกับวัดต่าง ๆ ซึ่งตนมีศรัทธาเป็นการเฉพาะ เว้นแต่วัดที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องกฐินหลวง
โดยกฐินราษฎ์นี้เองก็มีแบ่งออกเป็นชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้ กฐินหรือมหากฐิน/ จุลกฐิน/ กฐินสามัคคี / กฐินตกค้าง หรือกฐินโจร
ซึ่งเราจะขอมากล่าวถึงความหมายของกฐินโจร หรือกฐินตกค้างกันเป็นหลัก
กฐินโจร เป็นสำนวนพูด หมายถึง กฐินที่ไปทอดโดยไม่ได้จองล่วงหน้า ไปแบบจู่โจม การที่จัดเครื่องกฐินพร้อมสรรพแล้วนำไปทอดที่วัดซึ่งยังไม่มีผู้จองกฐินทันทีทันใดแบบจู่โจมหรือบอกกะทันหัน ไม่มีการบอกล่วงหน้า และไม่ทันตั้งตัวเหมือนโจรบุกขึ้นบ้านนั้น จึงทำให้เรียกกันว่า “กฐินโจร” นั่นเอง(อ้างอิงจาก เว็บไซต์คมชัดลึก กฐินตก กฐินโจร : คำวัด )