วันนี้เราได้มีโอกาสอ่านบทความสั้น ๆ จากเพจของคุณพศิน อินทรวงค์ รู้สึกว่าน่าสนใจมาก จึงอยากนำเสนอเนื้อหาที่น่าติดตามนี้มาแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ได้อ่านและทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน
คุณพศินได้เขียนว่า “คิดแบบไหนบ่อย ๆ ความคิดแบบนั้น จะถูกผลิตซ้ำ...
เมื่อความคิดใด ๆ เกิดขึ้น เราย่อมมีทางเลือกอยู่สองอย่าง"
1 คือ กระโจนลงไปเล่น
2 คือ ถอยใจออกมาเป็นผู้ดู
อย่างแรกทำให้เราถูกความคิดลากจูงไป
หากเป็นความคิดด้านบวก ใจก็ฟูไปตามความคิด
หากเป็นความคิดด้านลบ ใจก็ฝ่อไปตามความคิด ส่วนทางที่สองนั้นเป็นอะไรที่ต่างออกไป เมื่อเอาใจออกมาเป็นผู้ดู เราย่อมเห็นความคิดที่ไปตามความเป็นจริง เหมือนเห็นสายลมไหว ๆ ที่ไม่ได้มีอำนาจอะไรกับเรามากมาย
ธรรมชาติของความคิด หากเราเข้าไปเป็น คือ ส่งใจจมเข้าไปคลุกคลีในความคิด การทำเช่นนี้ก็เท่ากับเสริมพลังให้มัน ภาวะจมลงไปในความคิดนี้ เป็นภาวะปกติของคนส่วนใหญ่จะเรียกว่าเป็นการอินเข้าไปในบทบาทที่ตนกำลังรู้สึกอยู่ก็ได้ ภาวะการจมนี้ หากจมอยู่ในความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่งบ่อย ๆ นาน ๆ ความรู้สึกแบบนั้น ย่อมกลายเป็นเชื้อตั้งตนของความคิดในครั้งต่อไป
พูดง่าย ๆ ว่า การจมในความคิดของใจ เป็นการสั่งสมความเคยชิน ที่ทำให้เกิดความคิดลักษณะนั้นซ้ำๆ
เสพความโกรธบ่อย ๆ ความโกรธก็จะถูกผลิตออกมาซ้ำๆ
เสพความโลภบ่อย ๆ ความโลภก็จะถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ
เสพความกังวลบ่อย ๆ โอกาสที่จะเกิดความกังวลในอนาคต ก็ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
น่าแปลกที่คนทั้งโลก ไม่ค่อยสังเกตเรื่องจิตใจ
จิตใจนี้เป็นนามธรรม มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่เราทุกคนก็รู้สึกสัมผัสกับสิ่งนี้ได้เมื่อเกิดความรู้สึก อาจเป็นเพราะเรื่องจิตใจเป็นอะไรที่ใกล้ตัว เมื่อใกล้ตัวมากไป เราจึงมองไม่เห็น คล้ายว่าเราแทบไม่เคยเห็นแผ่นหลังของตนเอง อย่างไรอย่างนั้น ขอให้สังเกตไปตามจริง แล้วลองพิจารณาดู
หากเราเป็นคนขี้โกรธ แล้วไม่ตระหนักรู้ในความโกรธ ปล่อยใจไปกับความโกรธ เมื่อโกรธปุ๊บ ใจกระโจนเข้าไปเป็น หากปล่อยไว้เช่นนี้จะพบว่า ความโกรธในครั้งถัดไปมีแนวโน้มจะถี่ และรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ
บางท่านอาจแย้งว่า ถ้างั้น เราควรเอาใจไปผูกไว้กับอารมณ์เชิงบวก ถ้าหากทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะธรรมชาติของคนเรา มักคิดอะไร ๆ ในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกอยู่เป็นปกติ เว้นแต่คนผู้นั้นผ่านการสั่งสมกระแสความคิดในเชิงบวกมาเป็นเวลายาวนาน
อย่างไรก็ตาม หนทางที่ปลอดภัยจากการตกอยู่ใต้อำนาจความคิดของตนเองก็คือการถอนใจออกมา แล้วมองความคิดด้วยพลังของสติ เมื่อความคิดถูกมองเห็น ระดับพลังของความคิดจะค่อย ๆ ลดลง ส่งผลให้เราสามารถใช้เหตุผล เป็นหางเสือในการกำหนดทิศทางของความคิดได้
การจะเห็นกระบวนการทำงานของความคิดนี้ คือทักษะทางใจอย่างหนึ่ง อาศัยเพียงการอ่าน ฟัง วิเคราะห์ไม่ได้จำเป็นต้องฝึกฝนอยู่เสมอ ๆ ฝึกแรก ๆ ใจจะยังไม่ชิน เมื่อเกิดความคิดก็จะกระโจนเข้าไปเป็น ช่วงแรกๆ ต้องมีสติค่อยเตือนตัวเองให้ถอยออกมาดู อาจจะกำหนดเป็นคำว่า *คิดหนอ* ก็ได้ พอคิดก็กำหนดว่า คิดหนอ แล้วจึงสังเกตเฝ้ามองความคิด จะเป็นความคิดเชิงบวกหรือลบไม่สำคัญ เราทำเหมือนกันคือมองความคิดเป็นเพียงกระแสหนึ่ง ไม่ต้องไปให้ค่าว่าคือบวกหรือลบ เพียงกำหนดว่า คิดหนอ แล้วเฝ้ามอง ทำอย่างนี้ให้ชินให้เป็นนิสัย
สัญชาติญาณของการเป็นผู้สังเกต จะค่อยๆเกิดขึ้นช้าๆ ทีนี้พอนาน ๆ เข้า ใจของเราจะเริ่มตั้งมั่น มีพลังในการสังเกตความคิดมากขึ้น ความคิดเชิงบวกหรือเชิงลบ จะทำอันตรายกับเราได้น้อยลง ตรงนี้คือต้นทางของความสุขแท้ ๆ สิ่งเหล่านี้คือทักษะที่ทำให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้ ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝน จนสิ่งที่รู้กลายเป็นทักษะ ทักษะหมายถึงความเชี่ยวชาญในการกระทำ คือเราต้องทำได้ พาใจให้หยั่งลึกสู่สภาวะนั้นได้จริงๆ มิใช่เพียงการสื่อสารผ่านคำพูดเพียงเพื่อการตีความ ที่สุดแล้วสิ่งนี้ก็ต้องนับถึงที่การฝึกฝนค่อย ๆ ฝึก ค่อย ๆ เดิน
หากเราเดินทุกวันไม่หยุด วันหนึ่งก็มีโอกาสถึงเส้นชัย เส้นชัยนี้คือการชนะตนเอง ไม่ตกเป็นทาสกิเลสของตนเอง ใครทำได้เช่นนี้ ก็ถือว่า การเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้ คุ้มค่าไม่สูญเปล่า...
ขอขอบคุณแหล่งที่มาจาก เพจคุณพศิน อินทรวงค์